Wednesday, July 13, 2011

สถาปนิก อาชีพหนึ่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต

ปัจจุบันหลายๆอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก และเกือบทุกส่วนล้วนต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันตามยุคสมัย เพื่อความอยู่รอดในสังคม และกฎเกณฑ์เหล่านี้ก็ไม่ได้ยกเว้นอาชีพสถาปนิกแต่อย่างใด ซึ่งในทางตรงข้ามอาชีพสถาปนิกนั้นเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไปกระทบอย่างเต็มๆ อย่างที่จะหาทางรอดได้ยาก

ถ้าเราย้อนหลังไปซัก 30-40 ปีที่แล้ว หากเราต้องการได้เสื้อผ้าซักชิ้นหนึ่ง เราจำเป็นจะต้องหาร้านตัดเสื้อที่มีแบบให้เราเลือก หรืออาจจะไปหาซื้อผ้ามาแล้วเอาไปให้ช่างตัดเสื้อตามที่เราได้เตรียมแบบเสื้อที่ต้องการ โดยอาจจะเป็นรูปภาพเสื้อตัวอย่างมาจากนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ แล้วให้ช่างตัดเสื้อตัดเสื้อตามแบบที่เราได้เตรียมมาให้ ซึ่งปัจจุบันนั้นการที่เราไปหาซื้อผ้ามาเอง หาคนออกแบบเสื้อเอง หากช่างตัดเสื้อเอง นั้นเป็นการทำงานยุ่งยากมาก ทั้งเวลา ความเสี่ยงที่จะได้เสื้อผ้าที่ไม่ชอบนั้นสูง ใช้เวลาการทำงานไม่แน่นอน ขึ้นกับปริมาณงานที่ช่างตัดเสื้อที่รับไว้แล้ว ซึ่งคนปัจจุบันนั้นไม่มีเวลาไปทำงานแบบนั้นอีกต่อไป เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาไม่คุ้มกัน ทำให้หาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปกันเกือบทุกคน ยกเว้นเสื้อผ้าที่ต้องใช้เฉพาะงานสำคัญๆจริง

การที่ซักคนหนึ่งต้องการมีบ้านพักอยู่อาศัยก็คงเช่นเดียวกัน จากเดิมที่ต้องตามหาเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องที่รู้จักกับสถาปนิกให้แนะนำให้ แล้วก็ต้องไปหาผู้รับเหมาก่อสร้างเอง ซึ่งบางครั้งก็ต้องทะเลาะกับผู้รับเหมาก่อสร้างด้วยความไม่เข้าใจในการทำงาน ทำให้เจ้าของบ้านต้องแบกรับความเสี่ยงในการต้องมาบริหารงานก่อสร้างเอง ซึ่งก็ไม่ได้จบด้านนี้มาทำให้ปวดหัวมากกับการต้องมีบ้านซักหนึ่งหลัง

นอกจากปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันสถาปนิกที่จบด้านนี้มาไม่ได้คุณภาพ ทำให้จบออกมาแล้วทำงานออกแบบไม่ได้เหมือนสมัยเก่า ต้องไปเรียนรู้งานจากที่ทำงานอีกหลายปี ซึ่งมีการสำรวจจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทยพบว่า กว่า 95 % ที่จบการศึกษาระดับ สถ.บ. ภายใน 5 ปีได้หันหลังให้กับอาชีพสถาปนิกตามที่ได้ร่ำเรียนมา บ้างก็ไปทำ ออกาไนซ์เซ่อร์ บ้างก็ไปเล่นหนัง บ้างก็ไปเป็นตลก หรือ บางรายก็ไปทำธุรกิจขายตรง ขายประกัน โดยอาศัยความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมา ทำให้มีราศีมากกว่าคนจบจากสาขาวิชาทั่วๆไป

ปัจจัยที่มีผลกระทบกับอาชีพสถาปนิกเพิ่มขึ้นนั้นก็คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ด้านการออกแบบอาคารใหม่ๆ วิทยาการด้านการออกแบบก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม วัสดุก่อสร้างใหม่ๆ ตลอดจนรสนิยม การต้านภัยพิบัติ หรือกระแสการรักษ์โลกนั้นมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่จบสถาปนิกออกมาไม่สามารถตอบโจทย์ใหม่ๆได้ การก่อสร้างรูปแบบใหม่ๆหรือ การทำบ้านสำเร็จรูปจะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะคนในปัจจุบันต้องการความสะดวก รวดเร็ว แบบ One stop Service เพื่อลดความเสี่ยงในการสร้างบ้านบานปลาย ต้องมาทะเลาะกับช่างผู้รับเหมาก่อสร้างลง ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัทรับสร้างบ้านบนที่ดินได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

นั้นหมายถึงอาชีพสถาปนิกเริ่มสั่นคลอนอย่างเห็นได้ชัด หากหลักสูตรการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย และสถาปนิกไทยไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการทำงานให้ทันกับสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ซึ่งอีกไม่เกิน 4 ปีสถาปนิกจากประเทศรอบข้างจะเริ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ เพราะเราเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซี่ยน วันนั้นสถาปนิกไทยที่ไม่เตรียมตัวรับมือเรื่องเหล่านี้มาก่อน ก็คงไม่แตกต่างอะไรไปจากสึนามิ ที่พอเกิดขึ้นมาผู้คนก็จะล้มตายเป็นจำนวนมาก

No comments:

Post a Comment